จากสถิติทั่วโลกนั้น มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งในผู้หญิงที่พบเป็นอันดับสองรองจากมะเร็งเต้านม พบในช่วงอายุ 30-70 ปี (พบสูงช่วงอายุ 45-55 ปี) สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกก็คือ ปากมดลูกติดเชื้อไวรัสชื่อ ฮิวแมน แปปิลโลมา ไวรัส (Human Papilloma Virus) เรียกสั้น ๆ ว่าเอชพีวี (HPV) หรือไวรัสหูดนั่นเอง ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือกลุ่มเสี่ยงต่ำจะทำให้เกิดการเป็นหูดหงอนไก่ และกลุ่มเสี่ยงสูงจะทำให้เกิดมะเร็ง ซึ่งที่พบบ่อยคือ มะเร็งปากมดลูก

 

มะเร็งปากมดลูกมีอาการอย่างไร?

ในระยะเริ่มแรกหรือในระยะก่อนเป็นมะเร็ง ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการเลย แต่ตรวจพบจากการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก หากเมื่อโรคเริ่มเป็นมาก อาการที่พบบ่อยก็คือ
การมีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด โดยอาจจะเป็นเลือดออกกะปริบกะปรอยช่วงระหว่างรอบเดือน ประจำเดือนมานานผิดปกติ มีเลือดออกจากช่องคลอดหลังจากพ้นวัยหมดประจำเดือนถาวรไปแล้ว หรือมีเลือดออกเวลามีเพศสัมพันธ์ (เดิมไม่เคยมี) นอกจากนั้นผู้ป่วยบางรายอาจมีตกขาวมากผิดปกติ ตกขาวมีกลิ่นเหม็น และ/หรือมีเลือดปนออกมาด้วย รวมไปถึงบางรายอาจมีอาการเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์

แต่ถ้าหากโรคมะเร็งลุกลามไปมากขึ้นหรือลุกลามไปอวัยวะอื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียง อาจทำให้มีอาการปวดหลังหรือปวดก้นกบหรือปวดหลังร้าวลงขาหากโรคไปกดทับเส้นประสาท อาจมีปัสสาวะเป็นเลือดหรืออุจจาระเป็นเลือดหากโรคลุกลามเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะหรือลำไส้ใหญ่ อาจขาบวมหากโรคลุกลามไปกดทับท่อน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน หรือทำให้ท่อน้ำเหลืองเหล่านั้นอุดตัน และอาจมีปัสสาวะผิดปกติ มีอาการของไตวายเฉียบพลันหากโรคลุกลามไปกดทับท่อไต (ท่อไตอยู่ติดกับปากมดลูก)

 

โรคมะเร็งปากมดลูกแบ่งเป็นกี่ระยะ?

โรคมะเร็งปากมดลูกนั้นแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 0 หรือระยะเริ่มแรกก่อนเป็นมะเร็งคือ ระยะที่เซลล์ของปากมดลูกเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง สามารถตรวจพบได้จากการตรวจแป๊บสเมียร์ ยังไม่สามารถพบความผิดปกติจากการตรวจร่างกายได้

ระยะที่ 1 คือ ระยะที่มีเซลล์มะเร็งอยู่เฉพาะบริเวณปากมดลูกเท่านั้น

ระยะที่ 2 คือ ระยะที่มะเร็งลุกลามออกจากปากมดลูกไปบริเวณช่องคลอดส่วนบนหรือบริเวณอุ้งเชิงกรานแต่ยังไม่ลุกลามถึงผนังอุ้งเชิงกราน

ระยะที่ 3 คือ ระยะที่มะเร็งลุกลามไปจนติดผนังอุ้งเชิงกราน หรือก้อนมะเร็งมีการกดทับท่อไต ทำให้การทำงานของไตเสื่อมลงจนไตด้านนั้นไม่ทำงาน (อาจทั้งสองไต)

ระยะที่ 4 คือ ระยะที่มะเร็งลุกลามเข้าสู่อวัยวะข้างเคียงคือ กระเพาะปัสสาวะ และ/หรือ ลำไส้ใหญ่/ทวารหนัก หรือมะเร็งกระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ เช่น ตับ ปอด กระดูก สมอง และ/หรือ ต่อมน้ำเหลืองอยู่ไกลปากมดลูก เช่น ในช่องท้อง

 

รักษาโรคมะเร็งปากมดลูกได้อย่างไร?

แนวทางการรักษามะเร็งปากมดลูกขึ้นอยู่กับระยะของโรคที่ผู้ป่วยเป็น สภาพร่างกายทั่ว ๆ ไปของผู้ป่วย โรคร่วมอื่น ๆ ที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ (เช่น เบาหวาน และโรคหัวใจ) รวมไปถึงความต้องการมีบุตรของตัวผู้ป่วยเอง (เมื่อเกิดโรคในอายุน้อย) และดุลพินิจของแพทย์

 

โรคมะเร็งปากมดลูกรักษาหายไหม?

มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคมีความรุนแรงปานกลาง หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง จะมีผลการรักษาดังต่อไปนี้

ระยะที่ 0 รักษาได้ผลดีเกือบ 100%

ระยะที่ 1 มีอัตราอยู่รอดที่ 5 ปี ประมาณ 80-90%

ระยะที่ 2 มีอัตราอยู่รอดที่ 5 ปี ประมาณ 60-70%

ระยะที่ 3 มีอัตราอยู่รอดที่ 5 ปี ประมาณ 40-50%

ระยะที่ 4 มีอัตราอยู่รอดที่ 5 ปี ประมาณ 0-20%

ดังนั้นการตรวจคัดกรองเพื่อหามะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มแรกจึงมีความสำคัญมาก เพื่อผลการรักษาที่ดีนะคะ

 

#ผู้หญิงไม่ยอมแพ้

อ่านเพิ่มเติมที่ – https://www.neversurrender.in.th/

(ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์ HaaMor.com)

(Visited 191 times, 1 visits today)