กินยาแก้ปวดท้องประจำเดือนบ่อยๆ อันตรายหรือไม่?
เชื่อว่าผู้หญิงส่วนใหญ่เคยมีอาการปวดประจำเดือนตั้งแต่ปวดน้อยไปจนปวดมาก จึงต้องหายามารับประทานเพื่อบรรเทาอาการปวด แต่การทานยาบ่อยๆ เพื่อบรรเทาอาการปวดจะเป็นอันตรายหรือไม่ มาหาคำตอบได้ที่นี่
อาการปวดประจำเดือนคืออะไร
ผู้หญิงจำนวนมากมีอาการปวดท้องก่อนมีประจำเดือน 1 – 2 วัน และระหว่างมีประจำเดือนในช่วงวันแรกๆ อาการปวดประจำเดือน (dysmenorrhea) มีตั้งแต่อาการปวดหน่วงหรือปวดเกร็งเล็กน้อย ไปจนถึงอาการปวดขั้นรุนแรงบริเวณท้องน้อยและอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดหลังด้านล่าง คลื่นไส้อาเจียน เหงื่อออก ท้องเสียหรือท้องผูก ท้องอืด เวียนศีรษะและปวดศีรษะ เป็นต้น
สาเหตุของการปวดประจำเดือน
โดยเฉลี่ยทุกๆ 28 วัน หากไข่ไม่มีอสุจิมาผสม เยื่อบุโพรงมดลูกจะหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน อาการปวดประจำเดือนเกิดจากสารที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมน ชื่อว่า โพรสตาแกลนดิน (prostaglandin) ซึ่งก่อตัวขึ้นที่เยื่อบุโพรงมดลูกระหว่างมีประจำเดือน โพรสตาแกลนดินทำให้กล้ามเนื้อบีบตัวและหดเกร็งคล้ายกับอาการเจ็บปวดขณะคลอดบุตร นอกจากนี้ยังทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ ท้องเสีย หากร่างกายหลั่งสารนี้ในปริมาณมากจะยิ่งเพิ่มความรุนแรงของอาการบีบรัด ทำให้รู้สึกปวดประจำเดือนยิ่งขึ้น
ทานยาทุกเดือนๆ แบบนี้ เป็นอันตรายต่อร่างกายหรือไม่ มดลูกจะเป็นอะไรหรือเปล่า
คุณหมอได้ให้คำตอบเอาไว้ชัดเจนว่า “ไม่เป็นอันตรายค่ะ” คุณผู้หญิงสามารถทานยาแก้ปวดท้องได้ทุกเดือน เดือนละ 2 – 3 วันได้ เป็นเรื่องปกติ และไม่มีอะไรต้องกังวล แต่ในกรณีที่คุณเป็นผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคตับ โรคไต โรคกระเพาะ อาจต้องเพิ่มความระมัดระวังในการใช้ยาเพิ่มขึ้น แต่หากใครที่สุขภาพร่างกายแข็งแรงดี ทานยาแก้ปวดได้ ไม่ต้องกังวลค่ะ อย่างไรก็ตาม หากพบว่าทานยาแล้วยังไม่หายปวดท้อง หรือพบอาการอื่นๆ เพิ่มเติม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายให้ละเอียดอีกครั้งจะดีกว่าค่ะ
ข้อมูลจากเพจ ใกล้มิตรชิดหมอ : https://bit.ly/34jOp4D
การป้องกันและบรรเทาอาการปวดประจำเดือน
- ใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบท้องน้อยและหลัง
- อาบน้ำอุ่น
- ใช้เทคนิคการผ่อนคลาย เช่น โยคะหรือนั่งสมาธิ
- รับประทานยาต้านการอักเสบชนิดไม่มีสเตียรอยด์ (NSAIDs) ควรรับประทานเมื่อเริ่มมีอาการปวดหรือก่อนมีอาการปวด การรับประทานยาแก้ปวดอาจมีผลข้างเคียง ดังนั้นควรใช้เมื่อมีอาการปวดอย่างรุนแรงเท่านั้น
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- รับประทานผักและผลไม้ ลดปริมาณอาหารที่มีไขมัน เกลือ เครื่องดื่มผสมคาเฟอีน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และขนมหวาน
- เลือกรับประทานยาคุมสูตรฮอร์โมนต่ำ ชนิด 24+4 ที่ช่วยลดอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS) ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดท้อง สิวเม็ดใหญ่ พุงป่อง คัดตึงหน้าอก อารมณ์เวี่ยงวีน ฯลฯ