อาการปวดท้องน้อย โดยที่ประจำเดือนไม่มานั้น แท้จริงแล้วสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุที่ไม่น่าวิตก เช่น การมีรอบเดือนที่ล่าช้า อันเนื่องมาจากความเครียด จนทำให้เกิดความดันภายในร่างกาย และส่งผลให้มีอาการปวดที่บริเวณท้องน้อย หรืออาจเป็นส่วนหนึ่งของอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual Syndrome) หรือ PMS ตามปกติ ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่ร่างกายมีรอบเดือนล่าช้า ซึ่งอาการเหล่านี้จะหายไปเองภายหลังจากที่ประจำเดือนมาได้ราว 1-2 วัน
แต่ถึงอย่างนั้น การปวดท้องน้อย แต่ประจำเดือนไม่มา ก็อาจเป็นอาการที่บ่งชี้ถึงโรคที่มีความรุนแรง และจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุดเช่นกัน ดังนี้
1. เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)
คือ ภาวะที่มีการเจริญเติบโตของเยื่อบุโพรงมดลูกเกิดขึ้นภายนอกมดลูก ซึ่งพบได้ 3-18% ของผู้หญิงทั่วไป โดยอาจจะมีการเจริญผิดที่ในเนื้อมดลูก (Adenomyosis) ที่เยื่อบุโพรงมดลูกจะแทรกเข้าไปอยู่ในกล้ามเนื้อมดลูก และการเจริญผิดที่นอกมดลูก (Endometriosis) ซึ่งมักจะเกิดขึ้นที่รังไข่ ท่อมดลูก เส้นเอ็นของมดลูก เป็นต้น
สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบนี้ บางรายอาจไม่มีอาการใด ๆ ขณะบางรายอาจจะมีอาการปวดท้องน้อย ปวดอุ้งเชิงกรานเรื้อรัง ปวดท้องน้อยตลอดช่วงที่มีรอบเดือน รู้สึกปวดเวลาที่ถ่ายปัสสาวะ-อุจจาระ ปวดเวลาที่มีเพศสัมพันธ์ และบางรายอาจถึงขั้นขับถ่ายเป็นเลือดได้ ซึ่งหากมีอาการผิดปกติข้างต้น ควรรีบปรึกษาแพทย์เฉพาะทางสาขาสูติศาสตร์และนรีเวชเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโดยทันที
2. มะเร็งรังไข่ (Ovarian Cancer)
โรคมะเร็งรังไข่ เป็น 1 ใน 10 โรคมะเร็งที่พบได้บ่อยมากที่สุด แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มเกิดจากเซลล์ตัวอ่อน หรือ เจิมเซลล์ (Germ cell) ซึ่งมักพบในเด็กและในหญิงอายุน้อย และกลุ่มเกิดจากเซลล์เนื้อเยื่อบุผิว (Epithelium) ซึ่งเป็นมะเร็งชนิดพบได้ในผู้ใหญ่ และพบมากในผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป โดยทั่วไปแล้วหากมีการพูดถึงโรคมะเร็งรังไข่มักจะหมายถึงชนิดหลัง
สำหรับอาการของผู้ป่วยโรคมะเร็งรังไข่นั้นมักจะไม่มีอาการของโรคในระยะแรก ๆ แต่มีอาการคล้ายผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารทั่วไป เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้อง เรอ หรือมีอาการปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ และอาจท้องผูก เนื่องจากก้อนมะเร็งกดเบียดทับลำไส้เล็ก กระเพาะปัสสาวะ และลำไส้ใหญ่ ดังนั้นผู้ป่วยจึงมักมาพบแพทย์ด้วยโรคนี้ในระยะลุกลามเสมอ เมื่อมีอาการปวดท้องน้อยและคลำเจอก้อนเนื้อในท้องน้อย มีประจำเดือนผิดปกติ หรือมีน้ำในช่องท้อง
3. เนื้องอกมดลูก (Uterine Fibroids)
เป็นเนื้องอกชนิดธรรมดา ไม่ใช่เนื้อร้าย ซึ่งพบได้ราว 25% ในผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป และมักพบในผู้หญิงอายุระหว่าง 35-45 ปี แต่อาจพบในหญิงสาวก็ได้ โดยเนื้องอกในมดลูกนี้เกิดจากการแบ่งตัวของเซลล์กล้ามเนื้อมดลูก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุสำคัญของอาการเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดในสุภาพสตรี และยังเป็นสาเหตุของอาการปวดท้องน้อย ปัสสาวะบ่อยหรือท้องผูกจากการกดของก้อนเนื้องอกด้วย
สำหรับผู้ที่เป็นโรคเนื้องอกมดลูกนั้น มักจะไม่มีอาการใด ๆ หากเนื้องอกนั้นมีขนาดเล็ก แต่หากเนื้องอกมีขนาดใหญ่ มักจะมีเลือดออกมากแบบกะปริบกะปรอย และมักจะมีอาการปวดประจำเดือนร่วมด้วย หรือปวดหน่วง ๆ ที่ท้องน้อย บางคนอาจมีอาการปัสสาวะบ่อย หรือมีความรู้สึกเจ็บขณะร่วมเพศ รวมทั้งอาจคลำเจอก้อนได้ที่บริเวณท้องน้อย
4. อุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic Inflammatory Disease : PID)
เป็นการอักเสบเฉียบพลันหรือเรื้อรังของอวัยวะสืบพันธุ์ส่วนบน ได้แก่ มดลูก ท่อนำไข่ รังไข่ และเยื่อบุช่องท้องบริเวณอุ้งเชิงกราน โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบถือว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย และการติดเชื้ออาจกระจายเข้าสู่ช่องท้องอาจทำให้เกิดเยื่อบุช่องท้องอักเสบ บริเวณกว้างเป็นภาวะแทรกซ้อนได้ มักพบในสตรีวัยเจริญพันธุ์
สำหรับผู้ที่เป็นโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบมักจะมีอาการไข้เกิน 38 องศา ปวดท้องน้อย โดยจะปวดหน่วงตลอดเวลา ร่วมกับปวดเกร็งเป็นระยะ และจะรู้สึกปวดมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหว หรือขณะมีเพศสัมพันธ์ ตกขาวมีกลิ่น และหากมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสียร่วมด้วย แสดงว่าโรคได้ลามไปถึงเยื่อบุช่องท้องแล้ว ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้จะเป็นอันตราย ควรเข้ารับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยทันที
5. ถุงน้ำในรังไข่ หรือ ซีสต์ที่รังไข่ (Ovarian Cysts)
ซีสต์ที่รังไข่ เป็นถุงน้ำที่พัฒนาขึ้นภายในรังไข่ โดยชนิดที่พบมากที่สุดก็คือ Functional Ovarian Cyst ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของกระบวนการสร้างไข่ภายในรังไข่ มักพบในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ และสามารถหายได้เองภายใน 8-12 สัปดาห์ กับชนิด Ovarian Cystic Neoplasms ซึ่งเกิดจากการเจริญของเซลล์ที่ผิดไปจากปกติในลักษณะเดียวกับการเกิดเนื้องอกและมะเร็ง โดยหากพบในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์มักจะเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง แต่หากพบในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นเนื้องอกแบบร้ายแรงสูง
การใส่ใจสุขภาพของเราเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม ควรหมั่นสั่งเกตความผิดปกติของร่างกายอยู่เสมอ จะได้รักษาทันถ่วงทีค่ะ