อาการผิดปกติต่างๆ ที่ทำให้เราไม่สบายตัว แต่คุณอาจหาสาเหตุไม่ได้ว่าเป็นเพราะอะไร เราจึงพาสาวๆ ไปหาสาเหตุที่แท้จริงกันเลยดีกว่าค่ะ

 

 

1. รอบเดือนผิดปกติ

ปกติแล้วผู้หญิงจะมีรอบเดือนทุกๆ 21-35 วัน แต่หากรอบเดือนมาบ่อยเกินไป หรือประจำเดือนขาด นั่นก็หมายความว่าเรามีฮอร์โมนเอสโตรเจน ที่เป็นฮอร์โมนเพศหญิง รวมไปถึงฮอร์โมนโปรเจสโตรโรน ที่เป็นตัวควบคุมการมาของประจำเดือนมาก หรือน้อยเกินไป นอกจากนั้นตัวช่วยสำหรับสาวๆ คือ การทานยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม 24+4 จะทำให้ประจำเดือนมาสม่ำเสมอขึ้น จะช่วยให้อาการปวดประจำเดือนลดลงอีกด้วยนะคะ

 

2. นอนไม่หลับ หรือหลับยาก

นอกจากฮอร์โมนเมลาโทนินที่มีส่วนช่วยให้นอนหลับได้สบายขึ้นแล้ว ยังมีฮอร์โมนโปรเจสโตรโรน ที่ผลิตออกมาจากรังไข่คุณผู้หญิง ที่ช่วยให้คุณผู้หญิงนอนหลับได้สบายมากขึ้น แต่หากฮอร์โมนหนึ่งในสองชนิดนี้มีปริมาณต่ำกว่าปกติ ก็จะส่งผลต่อการนอนหลับได้เช่นกัน รวมไปถึงฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เป็นฮอร์โมนเพศหญิง ถ้ามีฮอร์โมนชนิดนี้ต่ำกว่าปกติ ก็อาจทำให้คุณผู้หญิงรู้สึกร้อนวูบวาบ หนาวๆ ร้อนๆ หรือมีเหงื่อออกตอนกลางคืน ทำให้รบกวนการนอนหลับได้เหมือนกัน

 

 

3. สิวขึ้นมากผิดปกติ

สิวฮอร์โมนที่ขึ้นเป็นเม็ดๆ บนใบหน้าก่อนมีประจำเดือนเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้น่ากลัวอะไร แต่หากมีสิวขึ้นเป็นประจำไม่หายขาดเสียที อาจมีปัญหาที่ฮอร์โมนแอนโดรเจน ที่หากมีปัญหาจะส่งผลให้ต่อมไร้ท่อ และต่อมไขมันที่เซลล์ของผิวหนัง และรูขุมขนทำงานผิดปกติ จึงทำให้เกิดการอุดตันจนกลายเป็นสิวได้

 

4. หลงๆ ลืมๆ

ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่าหากฮอร์โมนเอสโตรเจนมีความผิดปกติ จะส่งผลกระทบต่อการควบคุมในสมอง และสารด้านสื่อประสาท ซึ่งมีผลต่อสมาธิ และความจำด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงใกล้หมดประจำเดือน จะมีอาการหลายอย่างที่เชื่อมโยงกับระดับฮอร์โมนและต่อมไทรอยด์ ทำให้การทำงานของสมองอาจไม่มีประสิทธิภาพเต็มที่เหมือนช่วงเวลาอื่นๆ

 

 

5. เครียด อารมณ์แปรปรวน

หากใครเคยได้ยินคำว่า ฮอร์โมนแปรปรวน หรือ Hormone Swing คงเข้าใจว่ามีอาการเป็นอย่างไร นอกจากอารมณ์หงุดหงิดโมโหง่ายแล้ว ฮอร์โมนเอสโตรเจนยังเป็นกุญแจสำคัญที่ส่งผลต่อสมองและอารมณ์อีกด้วย

 

6. ช่องคลอดแห้ง

โดยปกติแล้วหากคุณผู้หญิงมีช่องคลอดแห้ง ไม่มีน้ำหล่อลื่นระหว่างมีเพศสัมพันธ์บ้างเป็นบางครั้งยังไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติ แต่หากเกิดขึ้นบ่อยครั้งเกินไป อาจเป็นเพราะฮอร์โมนเอสโตรเจนมีปริมาณต่ำ ทำให้ช่องคลอดขาดความสมดุลในการทำงานตามไปด้วย

 

อาการข้างต้นเป็นเพียงสัญญาณเตือน ดังนั้นหากต้องการความแน่ใจว่าเป็นเพราะฮอร์โมนหรือไม่ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะดีกว่าค่ะ

(Visited 1,047 times, 1 visits today)